>>สมุนไพรรักษาโรคระบบทางเดินปัสสาวะ

สมุนไพรรักษาโรคระบบทางเดินปัสสาวะ
         โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)  ถ่ายปัสสาวะกระปิดกระปอย ปวดแสบปวดขัดเวลาถ่ายปัสสาวะบ่อย มีอาการคล้ายถ่ายไม่สุด ปวดบริเวณท้องน้อย
โรคนิ่ว
- นิ่วกรด เกิดจาก Uric acid เพราะรับประทานอาหารพวกเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์และโดยเฉพาะสัตว์ปีกมากเกินไป
- นิ่วด่าง เกิดจากดื่มน้ำไม่สะอาด มีหินปูนเข้าไปรวมตัวเป็นก้อนนิ่งในท่อไต ท่อปัสสาวะ
สมุนไพรที่ใช้รักษา

กระเจี๊ยบแดง

1.  กระเจี๊ยบแดง
ส่วนที่ใช้เป็นยากลีบเลี้ยงและกลีบดอก
ขนาดและวิธีใช้
- กลีบเลี้ยงและกลีบดอกตากแดดให้แห้ง 3 – 5 ดอก ชงน้ำร้อน 1 แก้ว ปิดฝาไว้ 5 นาที รับประทานวันละ 3 เวลา จนกว่าจะหายขัดเบา
-  กระเจี๊ยบแดง 12 ดอก ชงน้ำร้อน 1 ลิตร แบ่งดื่มตลอดวันจนกว่าจะหาย
หมายเหตุ: น้ำกระเจี๊ยบแดง ไม่สามารถละลายก้อนนิ่วได้ แต่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ถ้าก้อนนิ่วเล็ก ก็จะดันหลุดออกมาพร้อมปัสสาวะ ถ้าก้อนนิ่วใหญ่ต้องผ่าตัด
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
- กลีบเลี้ยงและกลีบรองดอกมีกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น กรด citric malic tartaric และ ascorbic (ไวตามินซี) ซึ่งทำให้กระเจี๊ยบแดงมีรสเปรี้ยว และทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นกรด ทำให้หินปูน ซึ่งเป็นด่างไม่จับตัวเป็นก้อนนิ่ว จึงใช้ป้องกันและรักษาโรคนิ่วได้ โดยเฉพาะนิ่วด่างที่เกิดจากดื่มน้ำที่มีหินปูน
            กระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะแก้ขัดที่ดีมาก สามารถดันเม็ดนิ่วที่มีขนาดเล็กให้หลุดออกมาได้ กลีบเลี้ยงและกลีบรองดอกของกระเจี๊ยบแดง ยังมีสารฮิบิสซินคลอไรด์ (Hibiscin chloride) ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ สามารถรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะอักเสบได้

            นอกจากนี้ยังพบรายงานว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เป็นยาระบายและทำให้เมาเหล้าช้าลง
            ผลการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยโรคนิ่ว โรคกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะอักเสบ ที่ให้ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดง พบว่า ปัสสาวะใส ถ่ายปัสสาวะสะดวกมากขึ้น หลังจากดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดง 7 วัน ถึง 1 ปี แล้วแต่กรณี และยังช่วยลดอาการอักเสบหลังผ่าตัดนิ่วด้วย
        กระเจี๊ยบแดงเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 3–6 ศอก ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง ใบมีหลายแบบด้วยกัน ขอบใบเรียบ บางทีก็มีรอยหยักเว้า 3 หยัก สีของดอกเป็นสีชมพู ตรงกลางดอกมีสีเข้มมากกว่าขอบนอกของกลีบ กลีบดอกร่วงโรยไป กลีบรองดอกและกลีบเลี้ยงก็จะเจริญเติบโตขึ้นอีกเกิดเป็นสีม่วงแดงเข้มหุ้มเมล็ดเอาไว้ภายใน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus sabdariffa Linn. อยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) มีชื่ออื่น เช่น ภาคเหนือ เรียก ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง เงี้ยว แม่ฮ่องสอนเรียก ส้มปู จังหวัดตาก เรียก ส้มตะแลงเครง ภาคกลาง เรียก กระเจี๊ยบ



ขลู่

2.  ขลู่
ส่วนที่ใช้เป็นยา: ใบและต้นเหนือดิน
ขนาดและวิธีใช้
- ใบหรือต้นขลู่ 1 กำมือ (สด หนัก 40 – 50 กรัม แห้งหนัก 15 – 20 กรัม) หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มกับน้ำพอท่วม เดือด 15 นาที หรือชงกบน้ำเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ 15 นาที ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มล.) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร จนกว่าอาการจะหาย
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
- ใบและต้นมีสารเกลือแร่มาก เช่น sodium chloride (เกลือแกง) เกลือของ Potassium มีฤทธิ์ขับปัสสาวะทั้งในสัตว์ทดลองและคน และไม่มีพิษเฉียบพลัน
           


               ขลู่เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 0.5 – 2 เมตร ขณะอ่อนส่วนต่าง ๆ มักมีขน ใบเดี่ยว ติดตามข้อสลับกันในแต่ละข้อ ก้านใบสั้นมากจนแทบไม่มีรูปร่าง ใบคล้ายรูปไข่กลับที่มีปลายแหลม โคนใบค่อย ๆ เรียว ขอบใบส่วนโคนค่อนข้างเรียบและค่อย ๆ จักขึ้นหาปลายใบ ขนาดกว้าง 1 – 5 ซม. ยาก 2 – 9 ซม. ดอกออกเป็นช่อใหญ่ 2 – 12 ซม. ออกตามปลายยอด หรือซอกโคนก้านใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกช่อชนิดกระจุกจำนวนมาก แต่ละช่อแบบกระจุกมีรูปทรงคล้ายทรงกระบอก ยาว 5 – 6 มม. ภายในมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียสีขาวอมม่วงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก มองเห็นเหมือนเป็นขนฟู ผลมีขนาดเล็กมาก
            มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pluchae indiaca Less.  อยู่ในวงศ์ Compositae  มีชื่ออื่น ๆ เช่น หนาดงัว หนาดวัว (อุดรธานี) ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน)

ตะไคร้

3.  ตะไคร้
ส่วนที่ใช้เป็นยา: โคนกาบใบและเหง้า
ขนาดและวิธีใช้
- โคนกาบใบและเหง้าซอยเป็นแว่นบาง ๆ ได้ 1 กำมือ (สด หนัก 40 – 60 กรัม แห้งหนัก 20 – 30 กรัม) ต้มกับน้ำหรือชงน้ำร้อนดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
- กาบใบและเหง้ามีน้ำมันหอมระเหยมาก มีฤทธิ์ขับลมแก้จุกเสียด ขับปัสสาวะ และยังฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราบางชนิดด้วย

ตะไคร้เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุได้หลายปี ลำต้นตั้งตรงและอยู่รวมกันเป็นกอ มีข้อและปล้องสั้น และค่อนข้างแข็ง ลำต้นส่วนที่อ่อนจะมีใบเรียงซ้อนสลับกันแน่นมาก ใบมีกาบใบเป็นแผ่นยาวโอบซ้อนกันจนดูแข็งคล้ายลำต้น ตัวใบเรียวยาวปลายแหลม กว้างไม่เกิน 2 ซม. ยาวได้ถึง 90 ซม. เนื้อใบหยาบและมีขนอยู่ทั่วไป ดอกออกเป็นช่อยาวมาก ซึ่งประกอบด้วยช่อย่อยที่มีดอกขนาดเล็กอยู่อีกจำนวนมากและมีขนที่ก้านดอก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cybopogon citratus Stampf อยู่ในวงศ์ Graminae  มีชื่ออื่น ๆ เช่น จะไคร (ภาคเหนือ) ไคร (ภาคใต้) หัวจิงไคร (ภาคอิสาน)

อ้อยแดง

4.  อ้อยแดง
ส่วนที่ใช้เป็นยา: ลำต้นสด
ขนาดและวิธีใช้
- ใช้ลำต้นสดสับเป็นชิ้นเล็ก ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 กำมือ (สด 70 – 90 กรัม หรือแห้ง 30 – 80 กรัม) ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 2 – 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
- มีรายงานว่าอ้อยแดงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะในสัตว์ทดลองและไม่มีพิษเฉียบพลัน
อ้อยแดงเป็นไม้ล้มลุกที่มีลำต้นสูง 1 – 3 เมตร ลำต้นมีข้อและปล้องเห็นได้ชัดเจน สีของลำต้นแดงคล้ำ แต่ละปล้องอาจจะยาวหรือสั้นก็ได้

ใบออกที่ข้อแบบสลับ และร่วงง่าย จึงพบเฉพาะตามปลายยอด โดยมีกาบใบโอบหุ้มข้ออยู่ รูปใบยาวเรียวปลายแหลม ขนาดยาว 50 – 175 ซม. กว้าง 4 – 10 ซม. ขอบใบจักละเอียดและคม
ดอกออกเป็นช่อใหญ่อยู่ตรงปลายยอด ขนาด 40 – 80 ซม. สีขาวประกอบด้วยดอกย่อยมีขนาดเล็กจำนวนมาก และมีขนยาว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Saccharum sinense Roxb.  อยู่ในวงศ์ Gramineae มีชื่ออื่น ๆ เช่น อ้อยดำ อ้อยขม


หญ้าหนวดแมว

5.  หญ้าหนวดแมว
ส่วนที่ใช้เป็นยา: ใบอ่อนและยอดอ่อน
ขนาดและวิธีใช้
- ตัดยอดอ่อนยาวประมาณ 1 คืบ (มีใบอ่อน 2 – 4 ใบ) หั่นเป็นท่อนสั้น ๆ ตากแดดจะแห้งใช้ 1 หยิบมือ (2 กรัม ชงกับน้ำเดือด 1 แก้วปิดฝาทิ้งไว้ 5 – 10 นาที ดื่มขณะร้อน วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารและต้องดื่มน้ำตามมาก ๆ
ข้อควรระวัง:
1.  ห้ามใช้ใบแก่ ต้นแก่ หรือการใช้การต้มแทนการชง เพราะอาจทำให้ฤทธิ์กดหัวใจ หายใจผิดปกติ
2. ห้ามใช้กับคนเป็นโรคหัวใจ
3. ห้ามใช้ใบสด เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ใจสั่น
4.  หญ้าหนวดแมวจะไปทำให้ยาแอสไพรินไปจับกับกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น จึงไม่ควรใช้หญ้าหนวดแมวร่วมกับยาแอสไพริน
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
- ใบอ่อนและยอดอ่อนเป็นยาขับปัสสาวะที่มีประสิทธิภาพสูงเพราะมีเกลือโปรแตสเซียมมาก จึงมีฤทธิ์เป็นด่างได้ดี ในรายที่เป็นโรคนิ่วทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิ่วกรดซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารพวกเนื้อสัตว์ และเครื่องในสัตว์ (ซีมีกรดยูริคสูง) หญ้าหนวดแมวทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่าง และสาร orthosiphonin ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้กรดยูริคและเกลือยูเรทไม่จับตัวกันเป็นก้อน และป้องกันไม่ให้แคลเซียมตกค้างอยู่ในไต

- หญ้าหนวดแมวไม่มีฤทธิ์ละลายนิ่ว แต่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยดันก้อนนิ่วขนาดเล็กให้หลุดออกมาพร้อมปัสสาวะได้ ถ้านิ่วก้อนใหญ่ต้องผ่าตัดออก
- ผลการทดลองทางคลินิก โดยใช้ยาชงหญ้าหนวดแมวทุกวัน วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 2 – 6 เดือน ผลปรากฏว่า 40% ของคนไข้ที่มีเม็ดนิ่วหลุดออกมาภายใน 3 เดือน อีก 60% ของคนไข้หายปวด
            หญ้าหนวดแมวเป็นไม้ล้มลุกสูงได้ถึง 2 เมตร ลำต้นค่อนข้างเป็นเหลี่ยมเห็นได้ชัดเจน และมีขนเล็กน้อย ใบเดี่ยวติดกับลำต้นแบบตรงข้าม ก้านใบยาว และอาจยาวได้ถึง 3 ซม. ตัวใบรูปร่างคล้ายรูปไข่ หรือรูปไข่เรียวขอบค่อนข้างขนาน หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบจักตามเส้นใบมักมีขน ตัวใบกว้าง 0.5 – 5 ซม. ยาว 1 – 10 ซม. ดอกออกเป็นช่ยาว 7 – 29 ซม. ประกอบด้วยดอกย่อย ๆ สีขาวหรือม่วงอ่อนจำนวนมาก ดอกมีส่วนของเกสรตัวผู้เป็นเส้นยื่นยาวคล้ายหนวดของแมว 4 เส้น ยาวกว่าส่วนของกลีบดอกมาก และพบยาวมากกว่า 2 ซม. ผลค่อนข้างแข็ง สีน้ำตาลเข้ม และมีขนาดเล็ก 1 – 2 มม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น