>>สมุนไพรแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ปวดท้อง

สมุนไพรแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ปวดท้อง
1.  กระทือ
กระทือ

         เป็นไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเป็นเหล้าอยู่ใต้ดินสีเหลืองซีด ๆ และมีส่วนชูขึ้นมาในอากาศสูงได้ถึง 1 เมตร ใบรูปค่อนข้างเรียวแหลม มีขนปกคลุมโดยทั่ว เนื้อใบค่อนข้างบาง ตัวใบกว้าง 5 – 8 ซม. ยาว 20 – 30 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแคบเข้าหาก้านใบซึ่งสั้นมาก 5 – 8 มม. ก้านช่อดอกยาว 10 – 30 ซม. ดอกออกเป็นช่อ รวมกันแน่นคล้ายตุ้มรูปไข่ กว้าง 4 – 5 ซม. ยาว 6 – 12 ซม. มีกลีบประดับรองรับแต่ละดอกและอัดซ้อนกันแน่น กลีบนี้มีสีเขียวแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อแก่ ดอกสีเหลืองยาวประมาณ 5 ซม. ผลรูปเรียว ผิวเรียบยาวประมาณ 1.5 ซม. เมล็ดสีดำ

ส่วนที่ใช้เป็นยา หัวหรือเหง้า

สรรพคุณและวิธีใช้
            1.  แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง  ใช้เหง้าหรือหัวสดปิ้งไฟ ฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้เอาน้ำดื่ม
            2.  แก้บิด  (ปวดเบ่งและมีมูก หรืออาจมีเลือดด้วย) ใช้เหง้าหรือหัวสดครั้งละ 2 หัว (ประมาณ 15 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใส คั้นเอาน้ำดื่ม
            กระทือมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber zerumbet (L.) Smith  อยู่ในวงศ์  Zingiberaceae  มีชื่ออื่น ๆ เช่น กระทือป่า กะแวน แฮวดำ เฮียวดำ (ภาคเหนือ) เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน)

2.  กะเพรา
กระเพรา

        เป็นไม้ล้มลุกที่ทรงพุ่มใหญ่และสูงได้ 30 – 60 ซม. มีขนปกคลุมทั่วไป ใบเดี่ยวออกตรงข้าม เนื้อในบางและนุ่ม ก้านใบยาว 1 – 3 ซม. ตัวใบรูปร่างรี หรือรีขอบขนาน กว้าง 1 – 2.5 ซม. ยาว 2 – 4.5 ซม. ปลายใบและโคนใบอาจแหลมหรือมน ขอบใบค่อนข้างหยัก เส้นใบทั้ง 2 ด้านมีขนปกคลุม ดอกออกรวมกันเป็นช่อ ยาว 8 – 14 ซม. โดยดอกติดรอบแกนช่อเป็นชั้น ๆ มีทั้งชนิดที่สีของส่วนต่าง ๆ เช่น ลำต้น ใบ ดอกเป็นสีเขียว   และชนิดที่ส่วนต่าง ๆ มีสีเขียวอมม่วงแดง

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบและยอด ทั้งสดหรือแห้ง

สรรพคุณและวิธีใช้
          1.  แก้อาหารท้องอื่ด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง  ใช้ใบและยอด 1 กำมือ (น้ำหนักสดประมาณ 25 กรัม แห้งประมาณ 4 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม เหมาะสำหรับเด็ก
            2.  แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน  (เกิดจากธาตุไม่ปกติ) ใช้ใบและยอดสดประมาณ 10 กำมือ (ประมาณ 25 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม           

         3.  เพิ่มน้ำนมในสตรีหลังคลอด  ใช้ใบสด 1 กำมือ แกงเลียงรับประทานบ่อย ๆ หลังคลอด
            4.  รักษากลากเกลื้อน  ใช้ใบสด 15 – 20 ใบ ตำหรือขยี้ให้น้ำออกมาทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน วันละ 2 – 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
            5.  รักษาหูด ใช้ใบสด (ถ้าเป็นกะเพราแดงจะมีฤทธิ์แรงยิ่งขึ้น) ขยี้ทาตรงหัวหูดเช้า – เย็น จนกว่าหัวหูจะหลุด
            6.  ใช้ไล่หรือฆ่ายุง  ใช้ได้ทั้งใบและกิ่งสดขนาด 1 กิ่งใหญ่ ๆ เอาใบมาขยี้  ๆ แล้ววางไว้ใกล้ตัวจะช่วยไล่ยุงได้ และยังสามารถไล่แมลงอื่น ๆ ได้ด้วย หรือเอาใบสดมากลั่นจะช่วยได้น้ำมันกะเพราซึ่งมีคุณสมบัติไล่ยุงได้ดีกว่าต้นสด ๆ
            กะเพราะมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum sanctum Linn.  อยู่ในวงศ์ Labiatae  มีชื่ออื่น ๆ เช่น กะเพราขาว กะเพราแดง (ภาคกลาง) กอมก้อ (ภาคเหนือ) ทางภาคอิสานจะเรียก อีตู่ไทย

3.  กานพลู

กานพลู

         เป็นไม้ยืนต้นขนาด 5 – 14 เมตร ใบเดี่ยวติดกับลำต้นแบบตรงข้าม เนื้อใบหนาเป็นมัน เมื่อส่องกับแสงแดดจะเห็นจุดน้ำมัน ตัวใบรี หรือรูปไข่เกือบขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ใบมีขนาดกว้าง 2 – 5 ซม. ยาว 6 – 13 ซม. ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ประกอบด้วย 3 – 20 ดอก เมื่อแก่ดอกจะยาว 1 – 2 ซม. สีแดงอมชมพู ผลรูปรี หรือรูปไข่ สีแดงเข้มยาว 2 – 3 ซม. ภายในมีเมล็ด 1 – 2 เมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก (ดอกกานพลูที่ดีจะต้องเป็นดอกที่มิได้สกัดเอาน้ำมันออก และมีกลิ่นฉุนรสเผ็ดจัด)

สรรพคุณและวิธีใช้
            1.  แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง  ใช้ดอกแห้ง 5 – 8 ดอก (0.12 – 0.6 กรัม) ต้มหรือบดเป็นผงรับประทาน (ดอกกานพลู 3 ดอก) ทุบแล้วแช่ในน้ำเดือด 1 ขวดเหล้า ใช้ชงนมเด็ก จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กท้องขึ้นท้องเฟ้อ

            2.  แก้อาการปวดฟัน  กลั่นเอาน้ำมันใส่ฟันหรือใช้ทั้งดอกเคี้ยวอมไว้ตรงบริเวณฟันที่ปวด เพื่อระงับอาการปวดฟัน
            3.  ระงับกลิ่นปาก  ใช้ดอกตูม 2 – 3 ดอก อมไว้ในปาก จะช่วยระงับกลิ่นปาก
            กานพลู มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Syzygium aromatucum (L.) Merr. Et Perry (Syn. Eugenia caryophyllus (Sprengel) Bullock et Harrison) อยู่ในวงศ์  Myrtaceae  มีชื่ออื่น ๆ เช่น จันจี่ (ภาคเหนือ)

4.  ข่า
ข่า

มีลำต้นเป็นเหง้าที่มีข้อและปล้องเห็นได้ชัดเจนอยู่ใต้ดิน  ส่วนที่อยู่บนดินอาจสูงได้ถึง 2 เมตร ใบเดี่ยวออกสลับ มีกาบใบหุ้มลำต้น ใบรูปรีเกือบขอบขนาน กว้าง 5 – 11 ซม. ยาว 20 – 40 ซม. เนื้อใบสองข้างมักไม่เท่ากัน ปลายใบแหลม โคนใบคล้ายสามเหลี่ยม ดอกออกที่ยอดเป็นช่อยาว มีก้านช่อยาว 10 – 30 ซม. แต่ละดอกมีขนาดเล็ก ผลมีรูปร่างรี และใหญ่ประมาณ 1 ซม.

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เหง้าแก่สดหรือแห้ง

สรรพคุณและวิธีใช้
            1.  แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง  ใช้ขนาดเท่ากับหัวแม่มือ (สดประมาณ 5 กรัม แห้งประมาณ 2 กรัม) ทุบให้แตกต้มเอาน้ำดื่ม
            2.  ใช้รักษาโรคผิวหนัง (ชนิดเกลื้อน)  ใช้เหง้าสดฝนกับเหล้าโรงหรือน้ำส้มสายชู หรือตำแล้วแช่แอลกอฮอล์

           3.  รักษาน้ำกัดเท้า  ใช้เหง้าแก่สด 1 – 2 หัวแม่มือ ทุบให้แตกละเอียด เติมเหล้าโรงใส่เหล้าพอท่วม แช่ไว้ 2 วัน ใช้สำลีชุบทาน้ำยาตรงบริเวณน้ำกัดเท้า 3 – 4 ครั้ง
            4.  รักษาลมพิษ  ใช้เหง้าแก่สด 1 แง่ง ทำ (ตำ) ให้ละเอียดเติมเหล้าโรงพอให้เละ ๆ ใช้ทั้งเนื้อ และน้ำทาบริเวณที่เป็นลมพิษทาบ่อย ๆ จนกว่าจะดีขึ้น
            ข่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Languas galangal (L.) stuntz (Syn. Alpinia galangal (L.) Sw.)  อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae  มีชื่ออื่น ๆ เช่น ข่าตาแดง ข่าหยวก


5.  กระชาย
กระชาย

         มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน มีกลิ่นหอม มีรากสะสมอาหารเป็นรูปทรงกระบอกปลายแหลมจำนวนมาก ส่วนที่อยู่บนดินสูงได้ถึง 50 ซม. มีกาบใบเป็นแผ่นบาง สีแดงเรื่อ ตรงกลางเป็นร่องหุ้มซ้อนกัน กาบใบยาว 12 – 25 ซม. ตัวใบรูปร่างรี ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือแหลม ตัวใบกว้าง 5 – 10 ซม. ยาว 10 – 30 ซม. ดอกออกเป็นช่อตรงยอด ดอกสีขาว หรือขาวอมชมพู

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เหง้าและราก (ทั้งสดและแห้ง)

สรรพคุณและวิธีใช้
            1.  แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง  ใช้เหง้าและรากประมาณ 1/3  – ½ กำมือ (สด 5 – 10 กรัม แห้ง 3 – 5 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม
            2.  แก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูกหรืออาจมีเลือดด้วย) ใช้เหง้าหรือหัวสดครั้งละ 2 หัว (ประมาณ 15 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใส คั้นเอาน้ำดื่ม

            3.  บำรุงหัวใจ  ใช้เหง้าและรากแห้ง ขนาด 1 ช้อนชา วิธีใช้ เอาเหง้าและรากกระชายปอกเปลือกล้างน้ำให้สะอาด หั่นตากแห้งบดเป็นผง ใช้ผงแห้ง 1 ช้อนชา ชงน้ำ ½ ถ้วย  รับประทานให้หมดในคำเดียว
            4.  แก้อาการเป็นลมเวียน  ใช้เหง้าจะออกฤทธิ์แรงกว่าราก ล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นทาง ๆ  ผึ่งให้แห้ง ใช้ 2 ช้อนชา ชงด้วยน้ำเดือดใหม่ ๆ ครึ่งถ้วยแก้ว เติมพิมเสน 3 – 4 เกล็ด ผึ่งทิ้งไว้ 5 – 7 นาที ดื่มแต่น้ำ วันละ 4 ครั้ง
            5.  รักษาแผลในปาก  ใช้เหง้าสด 1 – 2 เหง้า ฝนกับน้ำสะอาดให้ข้น ๆ เติมพิมเสน 1 – 2 เกล็ด ใช้ทาบริเวณที่เป็นวันละ 4 – 5 ครั้ง จนกว่าจะหาย
            กระชาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. (Syn. Kaempferia pandurata Roxb.)  อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae  มีชื่ออื่น ๆ เช่น กระแอน ระแอน (ภาคเหนือ) ขิงทราย (มหาสารคาม)


6.  กระเทียม

กระเทียม

         เป็นไม้ล้มลุกที่มีลำต้นใต้ดิน และมีส่วนที่เป็นกลีบย่อยจำนวนมาก ซึ่งห่อหุ้มด้วยเปลือกบาง ๆ สีขาว หรือสีขาวอมชมพู ส่วนที่อยู่เหนือดินเป็นใบยาว 30 – 60 ซม. ค่อนข้างแบนกลวง ขนาด 5 – 20 มม. ปลายใบแหลม ดอกสีขาวอมเขียว หรืออมชมพูม่วง ออกรวมกันเป็นกระจุกที่ปลายก้านช่อที่ออกมาจากหัวใต้ดิน ผลมีขนาดเล็กมาก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัวหรือกลีบ

สรรพคุณและวิธีใช้
            1.  แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง  ใช้กลีบปอกเปลือก รับประทานดิบ ๆ ครั้งละ 5 กลีบ (2 กรัม)
            2.  รักษาโรคผิวหนัง (ชนิดเกลื้อน) ฝานกลีบกระเทียมแล้วนำมาถูบ่อย ๆ
            3.  แก้ไอขับเสมหะ  ใช้หัว 4 – 8 กลีบ โขลกให้ละเอียดเติมน้ำส้มสายชูประมาณ 2 – 3 ช้อนแกง คั้นเอาแต่น้ำจิบบ่อย ๆ

      4.  แก้อาการเจ็บคอ  ใช้หัวกระเทียมโทน 2 หัว ปอกเปลือกตำให้แหลก แทรกเกลือป่น ผสมน้ำมะนาวพอควร จิบบ่อย ๆ จิบติดต่อกัน 5 – 7 วัน อาการเจ็บคอจะหายไป
       5.  ลดไขมันในเลือด  ใช้กลีบสด 5 – 7 กลีบ หรือเป็นผงสกัด 1 แคปซูล บรรจุ 500 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น หรือรับประทานครั้ง 5 – 7 กลีบ รวมกับอาหารเช้า – เย็น ติดต่อกัน 5 – 10 วัน (ข้อควรระวัง อย่ารับประทานกระเทียมขณะท้องว่าง)
                        กระเทียม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium sativam Linn.  อยู่ในวงศ์ Alliaceae  มีชื่ออื่น ๆ เช่น  หอมเทียม (ภาคเหนือ) หัวเทียม (ภาคใต้) กระเทียมขาว หอมขาว (อุดรธานี)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น