>>สมุนไพรบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ

ดีปลี
ดีปลีเป็นไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ใบรูปไข่ โคนมน ปลายแหลม เป็นพืชใบเดี่ยว คล้ายใบย่านางแต่ผิวใบมันกว่า บางกว่าเล็กน้อย ดอกเป็นรูปทรงกระบอกปลายมน เมื่อแก่จะมีผลเป็นสีแดง  ประโยชน์ด้านสมุนไพรใช้ผลแก่แห้งเป็นยา โดยเก็บช่วงที่ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุก ตากแดดให้แห้ง มีรสเผ็ดร้อน ขม มีสรรพคุณขับลม บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด  
สำหรับสูตรบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ  ท่านให้เอาผลสุกเต็มที่  จำนวน 1 – 2  ผล มาฝนผสมกับน้ำมะนาว  โรยเกลือสัก 3 เม็ด  ใช้จิบบ่อย ๆ  ตลอดวัน หรือจะใช้กวาดคอก็ได้
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper retrofractum Vahl.
วงศ์ : Piperaceae
ชื่อพื้นเมือง : กลาง ประดงข้อ ปานนุ, ใต้ ดีปลีเชือก, บางแห่งเรียกว่า พิษพญาไฟ
ลักษณะ : ไม้เถา เถากลม เป็นปล้องต่อกัน ตรงข้อต่อจะป่อง และมีรากสั้น ๆ รอบข้อ เพื่อไว้เกาะค้าง หรือต้นไม้อื่น เถาแตกกิ่งก้าน ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับกัน รูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบออกไม่เท่ากัน ผิวใบด้านบนค่อนข้างมัน ดอก ช่อ ออกตรงข้ามในบริเวณปลายเถา ลักษณะดอกเป็นแท่ง รูปทรงกระบอก ดอกย่อยไม่มีก้านดอก ผล ขนาดเล็กกลมฝักอยู่บนแกนช่อดอก สีเขียวเข้ม แก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและสีแดงส้ม ผลยาว 2.5 - 5 ซ.ม.
ส่วนที่ใช้ : ผลที่เริ่มเปลี่ยนจากเขียวเป็นสีน้ำตาล
สารที่สำคัญ : น้ำมันหอมระเหย มีประมาณ 1% ประกอบด้วย terpinolene, caryophyllene, p-cymene, thujene, dihydrocarveol ฯลฯ
สรรพคุณ :
  1. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง และแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ) ใช้ดอกแก่ 1 กำมือ (ประมาณ 10–15 ดอก) ต้มเอาน้ำดื่ม ถ้าไม่มีดอกใช้ เถาต้มแทนได้
  2. แก้ไอและขับเสมหะ ใช้ดอกแก่แห้ง หรือช่อผลแก่แห้งประมาณครึ่งช่อ ฝนกับน้ำมะนาวแทรก เกลือกวาดคอหรือจิบบ่อย ๆ
ขนาดและวิธีการใช้ : ใช้ผลแก่จัด 8 - 10 ผล ต้มกับน้ำ ดื่มแต่น้ำ 3 เวลาหลังอาหาร
ข้อควรระวัง : หญิงมีครรภ์ควรระมัดระวังการใช้ดีปลี เพราะจากผลการทดลองแต่ยังไม่ยืนยันเป็นที่แน่นอน พบว่า - อาจทำให้แท้ง - คุมกำเนิดได้ เมื่อใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ

ผักเบี้ยใหญ่
ผักเบี้ยใหญ่ จัดเป็นทั้งผักและยาสมุนไพรที่ คนไทยในชนบทพื้นบ้านและคนในหลาย ๆ ประเทศรู้จักนำมารับประทานกันนานมาแล้ว  โดยนำยอดผักเบี้ยใหญ่มาทำเป็นผักน้ำพริกหรือ ผักแกงส้มกับปลาสด  มีสรรพคุณทางสมุนไพร คือ ทั้งต้น เป็นยาเย็นบรรเทาไข้ แก้โรคลักปิดลักเปิด โรคตับ   ใบ  ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้บิด ขับพยาธิตัวกลม ตำพอกแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก  ลำตัน  น้ำคั้นทามือและเท้าแก้แสบร้อน เมล็ด  ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ
          สำหรับสูตรบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ  ท่านให้เอาต้นผักเบี้ยใหญ่แบบสด ๆ  1  กำมือ  มาบุบหรือตำให้แหลกผสมกับน้ำสะอาด แล้วคั้นเอาแต่น้ำ  เติมน้ำผึ้งไปด้วย 1 ช้อนชา  ใช้ดื่มแก้ไอ วันละ 2 – 3  ครั้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Portulaca oleracea Linn. วงศ์ PORTULACACEAE
ชื่ออื่น : ผักตาโค้ง ผักอีหลู
ลักษณะ : ไม้ล้มลุกอายุปีเดียว ลำต้นอวบน้ำ ตั้งตรง หรือแผ่กิ่งก้านทอดนอนตามพื้น ผิวลำต้นเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรือตรงข้าม ตัวใบรูปไข่ หรือไข่กลับ เนื้อใบค่อนข้างหนา อวบน้ำ ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้านเส้นใบมองเห็นไม่ชัด ดอกออกตามปลายยอด อยู่เป็นกลุ่มๆ ละ 2-7 ดอก มีใบเรียงเวียน 3-4 ใบ ล้อมรอบกลุ่มดอกกลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง ผลทรงกลมขนาดเล็กมีเมล็ดสีดำ กลมแบน ผิวมีตุ่มขรุขระเงาเป็นมัน จำนวนมากพบตามที่ชื้นแฉะ ในกระถางต้นไม้ ริมสนามหญ้าทั่วไป
สรรพคุณ :
ทั้งต้น เป็นยาเย็นบรรเทาไข้ แก้โรคลักปิดลักเปิด โรคตับ
ใบ ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้บิด ขับพยาธิตัวกลม ตำพอกแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
ลำตัน น้ำคั้นทามือและเท้าแก้แสบร้อน
เมล็ด ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ
 ยูคาลิป
        เป็นไม้ยืนต้น สูงถึง 50 เมตร ลำต้นเปลาตรง เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นถึง 1 เมตร กิ่งก้านโปร่ง เปลือกเรียบ สีขาวเทาเขียวแกมเหลืองหรือเทาแกมชมพู ผิวร่อนเป็นแผ่น สะเก็ดไม่แน่นอน ใบเดี่ยว เรียงสลับ ห้อยลง รูปใบหอกแคบ ขนาดกว้าง 0.7-2.0 เซนติเมตร ยาว 8-30 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม สีเขียวหรือเขียวแกมเทา ช่อดอกออกที่ซอกใบ แบบซี่ร่ม หรือแบบกระจุกมี 7- 11 ดอก ก้านช่อดอก ยาว 0.6-1.5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยเรียว ยาว 0.5-1.2 เซนติเมตร ดอกสมบูรณ์เพศ ดอกตูม รูปกลม หรือกรวยกลม ด้านบนเป็นฝาปิดรูปทรงกลม ปลายมีจงอย ฝาปิดร่วงเมื่อดอกบาน ด้านล่างเป็นฐานดอกรูปถ้วย เกสรเพศผู้ มีจำนวนมาก ผลแบบแคปซูลแห้ง เมื่อแตกปากเปิดมีลิ้น 3-5 ช่อง รูปทรงกลมหรือคล้ายรูปไข่ เมล็ดมีจำนวนน้อย ประมาณ 15 เมล็ดต่อผล ผิวเรียบ สีน้ำตาลแกม เหลือง มีสรรพคุณ ยูคาลิปสายพันธุ์ที่ใช้ทำยาคือ (E. globutus) ใบขับเสมหะ แก้ติดเชื้อ แก้ไข ใช้ทาถูนวดตามอวัยวะต่างๆ แก้ฟกช้ำ ทาคอแก้ไออมแก้หวัดคัดจมูก น้ำมันยูคาลิปตัสสายพันธุ์นี้จะมีสาร 1,8-cineole สูง
          สูตรบรรเทาไอและขับเสมหะ ท่านให้เอาใบสดของยูคาลิปมากลั่นเอาน้ำมัน ใช้ประมาณ 10 หยด (0.5 มิลลิลิตร) ใช้อมครั้งละ 2 – 3 หยดเท่านั้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eucalyptus globulus Labill. (Eucalyptus citriodora Hook.)
ชื่อสามัญ : Eucalyptus
วงศ์ : MYRTACEAE
ชื่ออื่น : โกฐจุฬารส น้ำมันเขียว มันเขียว
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบ ค่อนข้างกลม ลำต้นเปลาตรง เปลือก เปลือกหุ้มลำต้น มีลักษณะเรียบเป็นมัน มีสีเทาสลับสีขาวและน้ำตาลแดงเป็นบางแห่ง เปลือกนอกจะแตกร่อนเป็นแผ่นหลุดออกจากผิวของลำต้น  เมื่อแห้งจะลอกออกได้ง่ายในขณะสด ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว (simple leaf) เรียงสลับ เป็นรูปหอกยาว 3-12 นิ้ว กว้าง 0.5-0.8 นิ้ว ก้านใบยาว ใบสีเขียวอ่อนหม่นๆ ทั้งสองด้าน ใบห้อยลง เส้นใบมองเห็นได้ชัด ดอก ดอกออกเป็นช่อ ตามข้อต่อระหว่างกิ่งกับใบ มีก้านดอกเรียวยาว มีก้านย่อยแยกไปอีก ออกดอกเกือบตลอดปี ผล ผลมีลักษณะครึ่งวงกลมหรือรูปถ้วย ผิวนอกแข็ง  เมื่ออ่อนจะมีสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ เมื่อผลแก่ปลายผลจะแยกออก
ส่วนที่ใช้ : ใบสด น้ำมันที่กลั่นได้จากใบสด
สรรพคุณ :   เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ บรรเทาอาการข้ออักเสบ ไล่ หรือ ฆ่ายุง แมลง วิธีและปริมาณที่ใช้เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ  ใช้น้ำมันที่กลั่นได้จากใบสด 0.5 มิลลิลิตร (8 หยด) รับประทาน หรือทำยาอม ไล่หรือฆ่ายุง แมลง  ใช้ใบสด 1 กำมือ ขยี้ กลิ่นน้ำมันจะออกมาช่วยไล่ยุงและแมลง
ข้อควรระวัง : อย่าใช้เกินขนาด จะระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร เมื่อใช้เป็นยาภายใน
เสม็ดขาว

เสม็ดขาว  เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-ใหญ่ สูง 5-25 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบอ่อนสีแดง เปลือกสีนำตาลแดง มีใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ดอกสีขาว ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอก ออก ก.พ - เม.ย ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดี่ยว ทรงกลม หรือ ไข่สีขาว ผล ออก มี.ค - มิ.ย   มีประโยชน์ ยอดอ่อน นำมาลวก หรือกินกับผักกับนำพริก มีรสเปรี้ยวอมฝาด ใบตำพอกแก้เคล็ดขัดยอกฟกบวม
สูตรบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ  ท่านท่านให้เอาใบสดของเสม็ดขาวมากลั่นเอาน้ำมัน ใช้ประมาณ 10 หยด (0.5 มิลลิลิตร) มาทำเป็นยาดมหรือกินครั้งละ 2 – 3 หยด
ชื่อท้องถิ่น:เสม็ดขาว
ชื่อสามัญ:เสม็ดขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์: Melaleuca cajuputi Powell
ชื่อวงศ์: MYRTACEAE
ลักษณะพืช:เสม็ดขาว เป็นไม้ยืนต้น เปลือกต้นมักล่อนเป็นแผ่นคล้ายเยื่อกระดาษ สูงได้ถึง 15 เมตร กิ่งก้านห้อยลง ใบเดียว เรียงสลับ รูปวงรี แกมขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง 0.5-1 ซม. ยาว 4-8 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ห้อยหัวลง ดอกย่อยเรียงเป็นวง กลีบดอกสีขาว เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก ผลแห้ง แตกได้ มี 3 พู
การใช้ประโยชน์/ส่วนที่นำไปใช้ประโยชน์ : ใบ - ใช้น้ำมันที่กลั่นได้จากใบสดทาแก้เคล็ด เมื่อย ปวด บวม รูมาติซึม  ไซนัส
สรรพคุณทางยา :  รสขมหอมร้อน น้ำมันจากใบ มีกลิ่นคล้ายการบูร เรียกน้ำมันเขียว รับประทานเป็นยาขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ ขับลม ใช้มากจะขับพยาธิ อุดฟันแก้ปวด ทาไล่ยุง แก้หมัด เหา มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร

ชะเอมไทย

ชะเอมไทยเป็นไม้เถา  ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมโค้ง  มีขนสั้นประปรายตามยอดอ่อน  ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น  ออกเรียบสลับ  แผ่นใบบาง  ใบรูปขอบขนานแคบ  ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด  ดอกสีขาวนวล  กลีบดอกมี  5  กลีบ  กลีบเลี้ยงมี  5  กลีบ  ผล เป็นฝักแบน  สีเหลืองจนถึงน้ำตาล พอแห้งแตกออกได้ มีสรรพคุณและประโยชน์ คือ ลำต้น ต้มน้ำดื่มแก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว แก้โรคในลำคอ แก้ลม บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง และ  กล้ามเนื้อ ราก เป็นยาขับถ่าย
สูตรบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ  ท่านให้เอารากของชะเอมไทยยาว 4 – 5 นิ้ว มาล้างให้สะอาดแล้วต้มกับน้ำ  ใช้ดื่มหรือจิบได้ เช้า – เย็น วันละ 2 ครั้ง  ดื่มต่อเนื่องกันได้นาน 5 วัน หรือ 1 สัปดาห์
ชื่อวิทยาศาสตร์: Albizia myriophylla Benth.
วงศ์: MIMOSACEAE
ชื่ออื่น: กอกกั้น;ชะเอม;เซเบี๊ยดกาชา (ตรัง);ส้มป่อยหวาน;อ้อยช้าง
ลักษณะทางพฤกศาสตร์
ลำต้น: เป็นพรรณไม้เถายืนต้นมีขนาดกลาง ตามลำต้นกิ่งก้านจะมีหนาม
ใบ: ใบจะเล็กละเอียดเป็นฝอย มีลักษณะคล้ายส้มป่อย หรือต้นหยก และกระถิน
ดอก: ดอกจะมีลักษณะเป็นดอกเล็ก และฟูเป็นช่อสีขาว มีกลิ่นหอม
ผล: จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน
สรรพคุณของ ชะเอมไทย : ราก มีรสหวาน ใช้เป็นยาแก้ไอ กระหายน้ำ ยาระบาย ผล ขับเสมหะ เนื้อไม้ มีรสหวาน แก้โรคในคอ แก้ไอขับเสมหะ การศึกษาทางเคมีพบว่า สารที่ให้ความหวาน เป็นน้ำตาลกลูโคสและซูโครส

มะแว้งเครือ
เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยหรือทอดต้น ลำต้นและใบ สีเขียวเข้ม ผิวเรียบ เป็นมันวาว สะท้อนแสง มีหนามสีขาวใสแหลมคม กระจายทั่วทั้งต้นและก้านใบ ขอบใบเว้า ผลกลม เมื่อยังดิบสีเขียวอ่อน มีลายผลสีเขียวตามยาวไปหาขั้วผล เมื่อสุกผลจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ดอกมะแว้งเครือเกิดเป็นช่อ กลีบดอกสีม่วงสด อับเรณูเป็นสีเหลืองสด ตัดกันดูสวยงาม ผลมะแว้งเครือสดมีรสขมเช่นเดียวกับมะแว้งต้น  มะแว้งเครือมีสรรพคุณในตำรายาไทย คือ ใช้ผลสดแก้ไอ ขับเสมหะ ใช้ขนาด 4-10 ผล โขลกหรือตำพอแหลก คั้นเอาน้ำ ใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ หรือเคี้ยวกลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขม ผลสดมะแว้งเครือใช้ขับปัสสาวะ แก้ไข้ และเป็นยาขมเจริญอาหารด้วย
อีกสูตรหนึ่ง ท่านให้เอาผลแก่ 20 ผล มาใช้เป็นน้ำกระสายหรือกวาดคอ  เพื่อแก้ไอและขับเสมหะ  แต่ถ้าหากจะใช้รักษาอาการแก้ไอของเด็ก ให้ใช้เพียง 3 ผลเท่านั้น
ชื่อท้องถิ่น : มะแว้งเถา (กรุงเทพฯ), แขว้งเคีย(ตาก)ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum trilobatum Linn.
วงศ์ : SOLANACEAE
ลักษณะ : เป็นไม้เลื้อยหรือไม้พุ่ม ส่วนต่าง ๆ ตามลำต้นจะมีหนาม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ กว้าง 4-5 ซม. ยาว 5-8 ซม. ขอบใบหยักเว้า 2-5 หยัก ผิวใบเรียบเป็นมัน และมีหนามเล็ก ๆ ตามเส้นใบ ดอกออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ กลีบดอกสีม่วง ออกเป็นช่อ 2-8 ดอก ผล เป็นผลสด รูปกลม ผลอ่อนสีเขียวมีลายตามยาว ผลแก่สีแดง
ส่วนที่นำมาเป็นยา : ผลแก่สด
สารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ : มีวิตามิน เอ และมีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ชื่อ Solanine, Solanidine และสารที่ทำให้ผลมะแว้งเครือมีรสขมคือ Tomatid 5-en-3-B-ol
สรรพคุณทางยาและวิธีใช้ : แก้อาการไอ และมีเสมหะ และ เจริญอาหาร : นำผลแก่ 5-10 ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำผสมเกลือเล็กน้อย จิบบ่อย ๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวกลืนทั้งเนื้อและน้ำจนกว่าอาการจะดีขึ้น

ตำแยแมว
เป็นไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว เรียงเวียนรอบต้น ขอบใบหยัก ดอกช่อ ออกที่ง่ามใบ สีเขียว ผลแห้งแตก  มีสรรพคุณทางยา คือ ราก ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน เป็นยาถ่าย ใบ ขับเสมหะ ขับพยาธิ รักษาแผลเปื่อย เป็นยาระบาย แก้หืด ทั้ง 4 เป็นยาถ่าย ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน 
โดยสูตรบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ  ท่านให้เอาต้นสดของตำแยแมว 2 กำมือ มาสับให้พอหยาบ แล้วต้มกับน้ำสะอาด 6 แก้ว เคี่ยวให้เหลือน้ำสมุนไพรเพียง 3 แก้วเท่านั้น กิน 1 ถ้วยชาเล็ก ๆ  หรือ ¼ แก้ว วันละ 2 เวลา เช้า – เย็น (ไม่ควรกินมากเกินปริมาณที่กำหนดไว้ เพราะจะทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้)
ชื่อพื้นเมือง : ตำแยตัวผู้ (ภาคกลาง) หานแมว (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acalypha indica L.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE
ลักษณะต้นและใบ : ตำแยแมวเป็นไม้เล็ก ๆ จำพวกต้นหญ้า ต้นสูงประมาณ 2 ฟุตเศษ ๆ ลำต้นตรงใบกลมโต ปลายใบแหลมเล็กน้อย มีจักเล็ก ๆ ตามริมใบโตกว่าใบพุทรานิดหน่อย มีดอกออกตามต้น ดอกเป็นดอกช่อ ส่วนยอดของช่อดอกเป็นดอกเพศเมีย มีใบประดับหยักเป็นซี่ฟัน มีขนปกคลุม แต่ละใบประดับหุ้มห่อดอก 2-6 ดอก ผลแห้งแตกได้ ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด ชอบขึ้นตามที่ดินเย็น ๆ ตามที่รกร้างทั่วๆ ไป และที่มีอิฐปูนเก่า ๆ ผุ ๆ
สรรพคุณในทางยา :
ราก - ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน ทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร เป็นยาถ่าย
ใบ - ขับพยาธิเส้นด้ายในเด็ก ขับเสมหะในโรคหลอดลมอักเสบ ขับเสมหะในโรคหอบหืดเป็นยาถ่าย ทำให้คลื่นเหียนอาเจียน (รับประทานปริมาณมาก) ใบแห้งป่นโรยรักษาแผลเนื่องจากนอนมาก ยาระบาย แก้หืด ขับเสมหะ
ทั้งต้น - ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน ถอนพิษของโรคแมวได้ดี
ไม่ระบุส่วนที่ใช้ - ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน แก้ไอ ขับพยาธิเส้นด้ายในเด็ก ทำให้ทางเดินอาหารระคายเคือง ถอนพิษโรคของแมว

เสนียด
เสนียด เรามักจะคุ้นกับคำนี้ในลักษณะของความหมายที่ไม่เป็นมงคลหรือโดยจะใช้คู่กับคำว่า “จัญไร” เป็น “เสนียดจัญไร” แต่สำหรับ "เสนียด" ที่เป็นต้นไม้กลับเป็นสมุนไพรที่ให้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะใช้เป็นยาบรรเทาอาการไอและขับเสมอหะ คือ ท่านให้เอาใบสดของต้นเสนียด 1 กำมือ หรือ 6 – 7 ใบ มาล้างให้สะอาดแล้วบุบหรือตำให้แหลกเพื่อให้ได้น้ำประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ เทน้ำขิงสดหรือน้ำผึ้งเล็กน้อยผสม ใช้จิบแก้ไอและขับเสมหะหรือนำใบสด 1 กำมือมาต้มกับน้ำสะอาด 2 แก้ว เจือด้วยพริกไทยเม็กสัก 10 เม็ด แล้วเคี่ยวด้วยน้ำสะอาดเพียงครึ่งค่อนแก้ว จากนั้นใช้กินครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adhatoda vasica Nees.
วงศ์ : Acanthaceae
ชื่อพื้นเมือง : เหนือ บัวฮาขาว บัวลาขาว, ใต้ กระเหนียด, เลย หูหา, นครพนม หูวา, เชียงใหม่ โบราขาว
ลักษณะ : เป็นไม้พุ่มใหญ่ แตกกิ่งก้าน ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ใบรูป แหลมหัวแหลมท้าย ใบจัดตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ดอกช่อ ติดกันเป็นแท่ง ออกตรงข้อ มีใบประดับรองรับดอก เรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ กลีบรอง กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นหลอดมีสีขาว แยกเป็น 2 ปาก ปากบน ปลายแยกเป็น 2 แฉก ปากล่างปลายแยกเป็น 3 แฉกและมีสีขาวประม่วง บานครั้งละ 1 - 3 ดอก
ส่วนที่ใช้ : ใช้ราก, ใบ
สารที่สำคัญ : รากและใบมีอัลคาลอยด์ vasicine เป็น quinoline alkaloid
สรรพคุณตามตำรับยาไทย
ส่วนที่ใช้และสรรพคุณ: 
ใบ : ใช้ห้ามเลือด หรือเข้ายาหลายอย่างที่เกี่ยวกับเลือดเช่น บำรุงเลือด ฯลฯ แก้ฝี แก้หืด แก้ไอและขับเสมหะ
วิธีทำ/วิธีใช้:  นำเอาน้ำคั้นจากใบสดประมาณ 15 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำขิงสดกิน

มะนาว
มะนาวเป็นพืชผักสวนครัวที่หาได้ง่าย  เป็นเครื่องปรุงอาหารเกือบทุกประเภท และมีสรรพคุณทางสมุนไพรมากมาย  โดยเฉพาะในทางแก้ไอขับเสมหะ  ในตำรายาแผนโบราณ ท่านให้เอาผลสุกเต็มที่ของมะนาว จำนวน 2 ผล ฝานเป็นชิ้น ๆ  บีบเอาแต่น้ำให้ได้ประมาณ 5 - 6 ช้อนโต๊ะ โรยเกลือเม็ดหรือเหลือป่นเล็กน้อย กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ จะช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ และทำให้มีเสียงดีขึ้น หรือจะนำเอาเมล็ดมะนาวไปคั่วให้สุกเหลือง จากนั้นนำมาบดละเอียดคลุกเคล้ากับพิมเสนเล็กน้อยผสมน้ำต้มสุก ดื่มหรือจิบทั้งวันก็ได้
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus aurantifolia (Christm) Swing.
วงศ์  : Rutaceae

ชื่อท้องถิ่น :  ลูกนาว(ภาคใต้)ส้มมะนาว มะลิว (เชียงใหม่)
ลักษณะ : เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่ม มีหนามตามต้น ก้านใบสั้นตัวใบเป็นรูบกลมรี สีเขียวใบไม้ ขอบใบหยักเล็กน้อย ปลายและโคนใบมน ขยี้ไปดมจะมีกลิ่นหอม ดอกเล็กสีขาวอมเหลือง หอมอ่อนๆผลกลมเปลือกบางเรียบ มีน้ำมาก รสเปรี้ยวจัด เปลือกผลมีน้ำมัน กลิ่นหอม รสขม
สรรพคุณ :     น้ำมันจากผิวมะนาว ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด แต่งกลิ่น น้ำคั้นจากผลมะนาว รักษาอาการเจ็บคอ แก้ไอ ขับเสมหะ และรักษาโรคลักปิดลักเปิดซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินซี

กระเทียม
     เป็นพืชผักสวนครัวคู่กัีบคนไทยมาช้านาน หาง่าย ปลูกก็ง่าย  มีประโยชน์ตลอดทั้งต้น  ใช้เป็นทั้งเครื่องเทศและสมุนไพร  ในทางสมุนไพร มีสรรพคุณ เช่น ลดความดันโลหิต โรคหวัด วัณโรค คอตีบ ปอดบวม ไทฟอยล์ มาลาเรีย ฯลฯ ส่วนสูตรบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ ท่านให้เอาหัวกระเทียม 3 กลีบ (ไม่ใช่ 3 หัวนะครับ) มาโขลกให้ละเอียด เติมน้ำส้มสายชูประมาณ 4 - 5 ช้อนชา  จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำมากิน หรือจิบเล็กน้อยแก้อาการไอและขับเสมหะ รักษาอาการเจ็บคอได้ดี

ชื่อสามัญ : Garlic
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium sativum Linn.
ชื่ออื่น : ภาคเหนือเรียกว่า หอมเตียม ภาคใต้เรียกว่า เทียม หัวเทียม อุดรธานีเรียกว่า กระเทียมขาว หอมขาว กะเหรีย่ง-แม่ฮ่องสอนเรียกว่า ปะเช้วา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : กระเทียมเป็นพืชล้มลุก ลำต้นสูงประมาณ 30-45 ซม. ใบเป็นใบเดี่ยวสีขาวแบนยาว รูปขนาดเรียวแหลม ข้างในกลวง ด้านล่างมีรอยพับเป็นเส้นตลอดความยาว ดอกสีขาวแกมม่วงหรือแกมชมพู ออกเป็นช่อติดกันเป็นกระจุก กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปยาวแหลม ยาวประมาณ 6 มม. มีกาบหุ้มเป็นจะงอยยาว ก้านดอกยาว หัวสีขาวอยู่ใต้ดิน ลักษณะกลมแป้น แต่ละหัวมีกลีบเล็กๆหลายกลีบอยู่รวมกัน แต่ละกลีบมีเยื่อบางสีขาวหรืออมชมพู บางพันธุ์ในหนึ่งหัวมีเพียงกลีบเดียว เรียกว่า กระเทียมโทน เนื้อกระเทียมสีครีม รสเผ็ด และมีกลิ่นฉุน
สรรพคุณทางยา : ใบ ทำให้เสมหะแห้ง แก้ลมปวดในท้อง หัว ใช้แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง บำรุงธาตุ ขับระดู แก้โรคประสาท แก้ปวดหู แก้โรคริวสีดวงงอก ขับพยาธิในท้อง แก้โรคในปาก แก้หืด แก้วัณโรค แก้เลือดออกตามไรฟันแก้พกบวม และเป็นยาอายุวัฒนะ สารที่อยู่มนกระเทียม ช่วยป้ปงกันโรคมะเร็งขับเสมหะ แก้อาการเจ็บคอ บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ และช่วยให้ไตทำงานได้ดี  
คุณค่าอาหาร : หัวกระเทียม 100 ให้พลังงาน 140 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำ 63.1 กรัม โปรตีน 5.6 กรัม แคลเซียม 5 มิลลิกรัม เส้นใย 0.9กรัมวิตามินเอ 5 กรัม วิตามินบี1 0.17 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.02 มิลลิกรัม วิตามินซี 15 มิลลิกรัม