>>หญ้าหนวดแมวขับนิ่วทางเดินปัสสาวะ/สูตรยาแก้ปวดจาก ออฟฟิศซินโดรม



หญ้าหนวดแมวขับนิ่วทางเดินปัสสาวะ


หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว ขับนิ่วทางเดินปัสสาวะ
           สมุนไพรที่มีสรรพคุณขับนิ่วก้อนเล็ก ๆ ได้ ต้องย้ำว่าเป็นนิ่วก้อนเล็ก ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร และไม่ฝังอยู่ในไต สมุนไพรนั้นคือ หญ้าหนวดแมว ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ ทำให้นิ่วก้อนเล็กลงและสามารถขับออกได้
            นิ่วก้อนเล็กอยู่ในท่อปัสสาวะ หลังจากชงเป็นชาดื่ม มักพบว่ามีการขับนิ่วออกมา แต่ไม่ได้ผลกันทุกคน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของนิ่วด้วย
            ที่สำคัญ คนใช้ต้องระวังไม่ใช้ยาสมุนไพรหญ้าหนวดแมวร่วมกับยารักษาเบาหวานแบบกินหรือฉีดอินซูลิน เพราะจะเสริมฤทธิ์กันและจะทำให้ระดับน้ำตาลลดลงมากเกินไป เนื่องจากหญ้าหนวดแมวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
            นอกจากนี้ คนไข้ที่เป็นโรคหัวใจไม่ควรใช้ชาชงหญ้าหนวดแมว เพราะมีโพแทสเซียมสูง อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติได้
กรณีคนไข้ที่เป็นโรคไตวายก็ไม่ควรดื่มเช่นกัน เนื่องจากไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกมาได้ ทำให้มีการคั่งค้างในร่างกาย ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจได้

สูตรชงชา
            เก็บยอดอ่อนที่มีใบอ่อน 2 – 3 ใบ ควรเก็บช่วงที่ออกดอก เพราะจะมีสาระสำคัญสูงสุด จากนั้น นำมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นท่อนสั้น ๆ ผึ่งแดดให้แห้ง ขนาดที่ใช้ชง คือ 1 หยิบมือ (ประมาณ 2 กรัม) ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ปิดฝาทิ้งไว้ 5 – 10 นาที นำไปดื่มขณะร้อน วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร และควรดื่มน้ำเปล่าตามมาก ๆ
            ข้อควรระวัง คือ ให้ชงกับน้ำร้อน แต่ไม่ควรต้ม และควรใช้ใบอ่อน ๆ ไม่ควรใช้ใบแก่ เพราะอาจทำให้มีโพแทสเซียมออกมามากและกดการทำงานของหัวใจได้
            ผู้ที่กินยาแอสไพรินไม่ควรดื่มยาสมุนไพรหญ้าหนวดแมว เพราะจะทำให้แอสไพรินไปจับกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น
            หากดื่มชาชงชนิดนี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทาง
            วิธีหลีกเลี่ยงนิ่ว คือ ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว ห้ามกลั้นปัสสาวะและควรหลีกเลี่ยงการกินเครื่องในสัตว์


คัดย่อจากบทความโดย...พญ. ดวงรัตน์  เชี่ยวชาญวิทย์
ชีวจิต 398 ปีที่ 17 1 พฤศจิกายน 2558

         หญ้าหนวดแมว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Orthosiphon aristatus (Blume) Miq. อยู่ในวงศ์ Lamiacaea มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบ้านเราพบได้ทั่วไป และมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า พยับเมฆและอีตู่ดง ส่วนชื่อสามัญคือ Cat’s Whiskers  เรียกตามลักษณะของดอกซึ่งเป็นจุดเด่นของพืชชนิดนี้ และจังมีชื่ออื่นอีกว่า Kidney Tea ตามสรรพคุณที่ช่วยขับปัสสาวะนั่นเอง
            หญ้าหนวดแมวเป็นไม้ล้มลุก ต้นสูงได้ถึง 60 เซนติเมตร  ลำต้นเป็นเหลี่ยม ใบรูปไข่ มีขนปกคลุมตามเส้นใบ ช่อดอกเป็นช่อกระจะ  ออกที่ปลายยอด ยาว 20 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมากเรียงเป็นชั้นคล้ายฉัตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบปาก ปากบนหยักตื้นโค้งงอไปด้านหลัง ปากล่างตรง สีม่วงอ่อนถึงสีขาว ก้านเกสรยื่นยาวเห็นเด่นชัด อับเรณูสีเหลือง
            พืชชนิดนี้มีสรรพคุณทางยา เพียงนำทั้งต้นมาล้างให้สะอาด จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งแล้วเก็บไว้ชงเป็นชาดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย ขับนิ่ว แต่ควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคไตและโรคหัวใจ

มือใหม่หัดปลูก
            หญ้าหนวดแมวปลูกเลี้ยงง่าย ชอบดินร่วนระบายน้ำดีและแสงแดดจัด สามารถปลูกเป็นไม้กระถางหรือปลูกประดับแปลงก็ได้ เพราะให้ดอกสวย แต่ควรหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มอยู่เสมอ ส่วนกิ่งที่ได้ก็นำมาขยายพันธุ์ต่อด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้
            1.  เลือกกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ตัดเป็นท่อนยาว 10 – 15 เซนติเมตร มีข้อ 2 – 3 ข้อ ลิดใบออกให้เหลือ 2 – 3 ใบ
            2.  เตรียมวัสดุปักชำ โดยใส่ดินร่วนลงในกระถางขนาดเล็กจนเกือบเต็ม
            3.  ใช้กิ่งไม้เล็ก ๆ ปักลงดินเป็นร่อง แล้วนำกิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้ปักตามให้ข้อจมลงดิน กดดินรอบ ๆ กิ่งชำให้แน่น
            4.  รดน้ำให้ชุ่มชื้น วางในที่ที่มีแสงแดดรำไร ประมาณ 7 – 10 วัน จะเริ่มแตกรากใหม่ตามข้อปล้องและเติบโตต่อไป
            5.  เมื่อต้นเติบโตแข็งแรงจึงย้ายปลูกในกระถางขนาดใหญ่หรือปลูกลงแปลง

โดย...อุไร  จิรมงคลการ
ชีวจิต 398 ปีที่ 17 1 พฤศจิกายน 2558


สูตรยาแก้ปวดจาก ออฟฟิศซินโดรม



            คนในเมืองส่วนใหญ่ทำงานในออฟฟิศ ไม่ต้องออกแรงแบหาม ไม่ต้องใช้กำลังกาย แต่ก็ยังมีอาการปวดหลัง ไหล่ คอ ที่หมอแผนปัจจุบันเรียกว่า ออฟฟิศซินโดรม
            อาการปวดเหล่านี้ตามหลักแพทย์แผนไทยบอกว่า เกิดจากทำงานหามรุ่งหามค่ำ นั่งนานเกินไป นอนน้อยเกินไป กินน้ำน้อย กินอาหารมากเกินไป ทำให้ปวดตึงไปหมดทั้งร่างกาย และอาจเป็น “พรรดึก” หรือ “เถาดาน” ร่วมด้วย คือ ท้องผูก ถ่ายเป็นก้อนแข็งเล็ก ๆ อย่างนี้เป็นต้น หรือลุกลามไปทำให้เป็นความดันโลหิตสูง ปวดเข่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง
            แพทย์แผนไทยแนะนำให้กินผักพื้นบ้านที่ช่วยลดอาการปวดเมื่อยจากออฟฟิศซินโดรม จำพวกยอดขี้เหล็ก บัวบก ยอดเถาวัลย์เปรียง ผักบุ้ง ยอดจิก ผักชี คะน้า กวางตุ้ง กุยช่าย กะหล่ำดอก ผักสันตะวา ที่สำคัญ ต้องขยันออกกำลังกายเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง

สูตรยา
ตัวยา กำลังเสือโคร่ง กำลังหนุมาน กำลังวัวเถลิง กำลังเจ็ดช้างสาร หนักอย่างละ 10 บาท เบญจกูล (ประกอบด้วย ดีปลี ชะพลู รากเจตมูลเพลิง สะค้า ขิงแห้ง) หนักอย่างละ 5 บาท กระชายแห้ง ดอกคำฝอย แก่นฝางเสน แก่นกันเกรา มะขามป้อม สมอไทย กลัมพัก หนักอย่างละ 5 บาท น้ำ 3 ลิตร (หรือปริมาณท่วมตัวยา)


วิธีปรุงยา : ต้มตัวยาทั้งหมดรวมกับน้ำ รอเดือด ทิ้งไว้ 15 – 20 นาที หรือบดตัวยาทั้งหมดเป็นผงละเอียด จากนั้นผสมรวมกันแล้วบรรจุใส่แคปซูลเบอร์ 0
วิธีกิน : ยาต้ม กรองเฉพาะน้ำ ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า – เย็น ยาแคปซูล กินครั้งละ 3 เม็ด ก่อนอาหารเช้า – เย็น ควรดื่มหรือกินติดต่อกัน 1 เดือน
ข้อควรระวัง : หากมีอาการเบื่ออาหาร หน้ามืด ควรลดขนาดยาลงครึ่งหนึ่ง จากดื่มครั้งละ 1 แก้ว ให้ลดลงเหลือครั้งละ ½ แก้ว ส่วนยาแคปซูลให้กินครั้ง 2 เม็ด
โดย...บุญยืน  ผ่องแผ้ว
ชีวจิต 398 ปีที่ 17 1 พฤศจิกายน 2558
หมายเหตุ : ตัวยาทุกตัวมีขายที่ร้านขายยาสมุนไพรทั่วไป ไปซื้อพ่อค้าจะชั่งขายให้ตามที่เราสั่ง


วีรภัทราสนะ
โยคะท่านักรบ  ชนะอาการปวด
ประโยชน์ เป็นการกระชับกล้ามเนื้อขา สะโพก ลดเซลลูไลต์ บรรเทาอาการปวดหลัง ไหล่ คอ เอว เข่า น่อง และข้อเท้า ป้องกันข้อต่อ สะโพก เข่าและข้อเท้าเสื่อม ช่วยยืดเหยียดเส้นเอ็น หลัง ไหล่ จนกระทั่งถึงข้อเท้า รวมทั้งกระตุ้นอวัยวะภายในช่องท้อง เสริมสร้างสมาธิและความอดทน

วีรภัทราสนะ

วีรภัทราสนะ
นักรบ 1
ท่าเตรียม : ยืนเท้าชิด พนมมือไว้ที่อกหรือวางมือไว้ที่เอว แยกเท้าประมาณ 3 – 4 ช่วงไหล่

หายใจเข้า : หันเท้าขวาไปทางขวา 90 องศา ส่วนเท้าซ้ายหมุนตามประมาณ 30 – 40 องศา (เข่าซ้ายยืดตรงตลอดระยะเวลาการฝึกท่านี้) แล้วหันหน้าบิดสะโพกไปทางด้านขวา



หายใจออก : ลดสะโพกลง งอเข่าขวา 90 องศา สังเกตให้เข่าพุ่งตรงไปด้านหน้า (โดยปกติเข่าจะบิดไปทางด้านนิ้วโป้งเท้า) ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ ผ่อนคลายคอและหัวไหล่ สายตามองที่มือ ค้างท่าไว้ 3 – 5 ลมหายใจ  ทำซ้ำอีกข้างเช่นเดียวกัน

คำแนะนำ  ควรเก็บหน้าท้องเข้าไปหากระดูกสันหลังให้มาก ม้วนก้นกบ และยืดอกให้สูง


วีรภัทราสนะ

วีรภัทราสนะ

นักรบ 2

ท่าเตรียม : ยืนเท้าชิด พนมมือไว้ที่อก จากนั้นเท้ากว้าง 4 ช่วงไหล่ (กว้างกว่านักรบ 1) วางมือไว้ที่เอว

หายใจเข้า : เปิดเท้าขวา 90 องศา แขนกางอยู่ระดับหัวไหล่



หายใจออก : ลวดสะโพกและงอเข่าขวา ทำมุม 90 องศา เข่าไม่บิด และอยู่ในแนวเดียวกับนิ้วกลางของเท้า สายตามองที่มือขวา ค้างท่าไว้ 3 – 5 ลมหายใจ ทำซ้ำอีกเช่นเดียวกัน

คำแนะนำ  ควรกระชับต้นขาด้วยการเกร็ง เก็บหน้าท้องให้แน่น ยืดแขนให้สุด และผ่อนคลายหัวไหล่



วีรภัทราสนะ



วีรภัทราสนะ

นักรบ 3

ท่าเตรียม : ยืนตรง พนมมือไว้ที่อก

หายใจเข้า : ถอยขาซ้ายไปข้างหลัง แต่ไม่ลงน้ำหนักไปที่ขาซ้าย เอียงตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย


หายใจออก : ยกเท้าซ้ายขึ้นให้ขนานพื้นมากที่สุด เข่าตึง กระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรงตลอดเวลา แขนแนบใบหูไว้ (หากรู้สึกยากเกินไปให้แยกแขนออกทางด้านข้าง) ค้างท่าไว้ 3 – 5 ลมหายใจ ทำซ้ำอีกข้างเช่นเดียวกัน

คำแนะนำ  ควรเก็บหน้าท้องและกดสะโพกไว้ตลอด ไม่ให้เปิดออกทางด้านข้าง
ข้อควรระวัง  ควรจัดระเบียบท่าด้วยความระมัดระวัง เพื่อเลี่ยงการบาดเจ็บจากการฝึกโยคะ
กาญจนา  พันธรักษ์
ชีวจิต 402 ปีที่ 17 16 กรกฎาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น