>>ขมิ้นชัน : สูตรลดความอ้วนและสมุนไพรอื่น ๆ


ขมิ้นชัน : สูตรลดความอ้วนและสมุนไพรอื่น ๆ
       งานวิจัย  มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ชาฮิด ชาดูงิ  ประเทศอิหร่าน  พบว่า  จากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงอ้วนจำนวน 88 คน  ที่ผ่านการให้ความรู้เรื่องอาหารและกินอาหาร 500 แคลอรีต่อวัน บวกกับกินผงขมิ้นชันวันละ 3 
กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา ผสมเข้ากันกับโยเกิร์ตปริมาณ 8 ออนซ์
          หลังผ่านไป 3 เดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีน้ำหนักลดมากกว่า 3 ปอนด์ (1.3 กิโลกรัม)  เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ไดกินขมิ้นชัน คิดเป็น 14.64 เปอร์เซ็นต์ของไขมันและน้ำหนักที่ลดไป หรือเป็นจำนวนสามเท่าของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้กินขมิ้นชัน
          กล่าวคือ สารสำคัญในขมิ้นชันนั้นจะไปช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือดหรือระดับไตรกลีเซอไรต์ร่างกาย นอกจากนี้ขมิ้นชันยังประกอบไปด้วยสารไฟโตสเตอรอล (Phytosterol) เข้าไปยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย

สูตรขมิ้นชันลดความอ้วน (Spicy Hash with Fish)
ส่วนผสม
ผงขมิ้นชัน
1  ช้อนชา
มันฝรั่ง
400 กรัม หันเต๋าชิ้นพอคำ
แครอต
400 กรัม หันเต๋าชิ้นพอคำ
น้ำมันมะกอก
2 ช้อนชา
หอมหัวใหญ่
1 หัว หั่นเต๋า
พริกขี้หนู
1 – 2 เม็ด หั่นสไลซ์
ผักเคล หรือคะน้าพันธุ์ปูเล่
20 กรัม
เนื้อปลาดอลลี่
8 กรัม
น้ำสะอาด
½ ถ้วย
เกลือ
½ ช้อนชา
พริกไทย
½ ช้อนชา
ผักชีฝรั่ง

วิธีทำ
            1.  ใส่มันฝรั่งและแครอตลงต้มในหม้อน้ำร้อน โดยใช้ไฟปานกลางนานประมาณ 8 – 10 นาที แล้วพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
            2.  ตั้งกระทะโดยใช้ไฟร้อนปานกลาง จากนั้นเติมแครอตและหัวหอม พริกขึ้นหนู ทอดพอหอม จากนั้นเติมแครอตและมันฝรั่งจากข้อ 1 ผัดให้เข้ากัน
            3.  ใส่ผักเคลและผงขมิ้นชัน เติมเกลือและพริกไทย ผัดนาน 2 นาทีให้ผักเคลนิ่ม
            4.  ใส่เนื้อปลาดอลลี่ที่เตรียมไว้ ผัดให้เนื้อปลาสุก ประมาณ 10 – 15 นาที โรยหน้าด้วยผักชีฝรั่ง พร้อมเสิร์ฟ

                                                                                                โดย...สริกัลป์  อรัญมงคล
                        ชีวจิต 401 ปีที่ 17 16 มิถุนายน 2558







สูตรยาสมุนไพรบำรุงเลือด
      เส้นต่าง ๆ ทั่วร่างกายมีมากถึง 27,000 เส้น แบ่งเป็นเส้นโลหิตแดง เส้นโลหิตดำ เส้นขาว หรือเส้นประสาท และเส้นเอ็นที่รัดรึงกระดูกกับกล้ามเนื้อให้เกี่ยวกันทั่วร่างกาย
            ถ้าเส้นเลือดหรือเส้นต่าง ๆ เหล่านี้พิการหรือผิดปกติไป จะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หิวโหยง่าย อิดโรย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารไม่ถูกต้อง ทั้งของมัน ของเผ็ด ของหวาน และยังเกิดจากเป็นโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคไต วัณโรค อัมพฤกษ์ อัมพาต
            สำหรับการรักษานั้น จะใช้วิธีนวดหรือจับเส้นให้เส้นเลือด เส้นเอ็นคลายตัว จากที่เคยแข็งก็อ่อนนุ่มลง หรือที่มีไขมันเกาะอยู่ภายในจนตีบก็ละลาย เป็นท่อกลวง เลือดเดินสะดวก
            แต่สิ่งเมื่ออาการดีขึ้นแล้วต้องป้องกัน คือ เน้นกินเป็นผักเป็นยา เช่น แตงกวา ใบย่านาง ยอดเถาวัลย์เปรียง ถั่วพู ถัวฝักยาว ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเหลือง ยอดขนุน ผักกระเฉด ถั่วงอก เหล่านี้ช่วยบำรุงเลือด เส้นเอ็นได้ดีแท้
            และต้องหมั่นออกกำลังกาย เดินบ้าง วิ่งบ้าง อย่านอนเพียงอย่างเดียว มิฉะนั้น เส้นเลือดและร่างกายโดยรวมจะอ่อนแอ
            สูตรยาที่นำมาฝาก มีตัวยา 10 อย่าง อาจจะมากชนิดสักหน่อย แต่เพื่อผลของการรักษาที่ดี และเป็นสูตรที่ปลอดภัยไม่ผลข้างเคียง


สูตรยาหมอน้อยบอก
ตัวยา เถาวัลย์เปรียง เถาคันแดง เถารางแดง เถาวัลย์เหล็ก เถาเอ็นอ่อน เถาจิงจ้อ แก่นปรู๋ เถาใบระบาด เถาย่านาง รากกระถินไทย หนักอย่างละ 10 บาท น้ำสะอาด 3 ลิตร (หรือท่วมตัวยา)
วิธีปรุง : ต้มตัวยาทั้งหมดรวมกับน้ำ รอเดือด ทิ้งไว้ 15 – 30 นาที หรือบดตัวยาทั้งหมดเป็นผงละเอียด จากนั้นผสมรวมกันแล้วบรรจุใส่แคปซูลเบอร์ 0
วิธีกิน : ยาต้ม กรองเฉพาะน้ำ ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น ยาแคปซูล กินครั้งละ 3 เม็ด ก่อนอาหารเช้า-เย็น ยาต้มดื่มติดต่อกันได้ 2 สัปดาห์ ส่วนยาแคปซูลกินติดต่อกันได้ 1 เดือน
ข้อควรระวัง : หากมีอาการปวดเมื่อย เบื่ออาหาร ใจสั่นคล้ายจะเป็นลม ควรลดตัวยาลงครึ่งหนึ่ง จากดื่มครั้งละ 1 แก้ว ให้ลดลงเหลือครั้งละ ½ แก้ว ส่วนยาแคปซูลให้กินครั้งละ 2 เม็ด

โดย...บุญยืน  ผ่องแผ้ว
ชีวจิต 401 ปีที่ 17 16 มิถุนายน 2558





กลุ่มยาลดไขมันในเส้นเลือด มี 3 สมุนไพร
  กระเจี๊ยบ
คำฝอย
เสาวรส

1. กระเจี๊ยบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus sabdariffa L.           
ชื่อสามัญ : Jamaican Sorel, Roselle           
วงศ์ : Malvaceae           
ชื่ออื่น : กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบเปรี้ย ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง ส้มตะเลงเครง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 50-180 ซม. มีหลายพันธุ์ ลำต้นสีม่วงแดง ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ 3 หรือ 5 แฉก กว้างและยาวใกล้เคียงกัน 8-15 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีชมพูหรือเหลืองบริเวณกลางดอกสีม่วงแดง เกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ผลเป็นผลแห้ง แตกได้ มีกลีบเลี้ยงสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มไว้
สรรพคุณ :           
- กลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล           
- เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดน้ำหนักด้วย      
- ลดความดันโลหิตได้โดยไม่มีผลร้ายแต่อย่างใด        
- น้ำกระเจี๊ยบทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง    
- ช่วยรักษาโรคเส้นโลหิตแข็งเปราะได้ดี           
- น้ำกระเจี๊ยบยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นการช่วยลดความดันอีกทางหนึ่ง           
- ช่วยย่อยอาหาร เพราะไม่เพิ่มการหลั่งของกรดในกระเพาะ 
- เพิ่มการหลั่งน้ำดีจากตับ           
- เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น เพราะมีกรดซีตริคอยู่ด้วย           
- ใบ แก้โรคพยาธิตัวจี๊ด ยากัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำคอ ให้ลงสู่ทวารหนัก           
- ดอก แก้โรคนิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพราะปัสสาวะ ขัดเบา ละลายไขมันในเส้นเลือด กัดเสมหะ ขับเมือก-ในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก           
- ผล ลดไขมันในเส้นเลือด แก้กระหายน้ำ รักษาแผลในกระเพาะ           
- เมล็ด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ดีพิการ ขับปัสสาวะ ลดไขมันในเส้นเลือด           
นอกจากนี้ได้บ่งสรรพคุณโดยไม่ได้ระบุว่าใช้ส่วนใด ดังนี้คือ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้คอแห้งกระหายน้ำ แก้ความดันโลหิตสูง กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำไส้ ลดไขมันในเลือด บำรุงโลหิต ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โรคเบาหวาน แก้เส้นเลือดตีบตัน           
นอกจากใช้เดี่ยวๆ แล้ว ยังใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรอื่น ใช้ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด           
วิธีและปริมาณที่ใช้ :      
โดยนำเอากลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (หนัก 3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาและอาการอื่น ๆ จะหายไป  
สารเคมี ดอก พบ Protocatechuic acid, hibiscetin, hibicin, organic acid, malvin, gossypetin
2.คำฝอย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carthamus tinctorius L.
ชื่อสามัญ : Safflower, False Saffron, Saffron Thistle
วงศ์ : Compositae
ชื่ออื่น : คำ คำฝอย ดอกคำ (เหนือ) คำยอง (ลำปาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 40-130 ซม. ลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านมาก ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรี รูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 1-5 ซม. ยาว 3-12 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย ปลายเป็นหนามแหลม ดกช่อ ออกที่ปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อบานใหม่ๆ กลีบดอกสีเหลืองแล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีแดง ใบประดับแข็งเป็นหนามรองรับช่อดอก ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยม สีขาว ขนาดเล็ก
สรรพคุณ :
ดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล
- รสหวาน บำรุงโลหิตระดู แก้น้ำเหลืองเสีย แก้แสบร้อนตามผิวหนัง
- บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับระดู แก้ดีพิการ
- โรคผิวหนัง ฟอกโลหิต
- ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตัน
เกสร 
- บำรุงโลหิต ประจำเดือนของสตรี
เมล็ด
- เป็นยาขับเสมหะ แก้โรคผิวหนัง ทาแก้บวม
- ขับโลหิตประจำเดือน
- ตำพอกหัวเหน่า แก้ปวดมดลูกหลังจากการคลอดบุตร
น้ำมันจากเมล็ด
- ทาแก้อัมพาต และขัดตามข้อต่างๆ
ดอกแก่
- ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
ชาดอกคำฝอย ช่วยเสริมสุขภาพ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด โดยใช้ดอกแห้ง 2 หยิบมือ (2.5 กรัม) ชงน้ำร้อนครึ่งแก้ว ดื่มเป็นเครื่องดื่มได้
3.เสาวรส
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Passiflora laurifolia L.
ชื่อสามัญ : Jamaica honey-suckle, Passion fruit, Yellow granadilla
วงศ์ : Passifloraceae
ชื่ออื่น : สุคนธรส (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้เถา เถามีลักษณะกลม ใบ เป็นใบเดี่ยว ขอบใบหยักลึก ที่ก้านใบมีต่อมใบ ดกหนา เป็นมันสีเขียวแก่ ดอก ออกดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ ห้อยคว่ำคล้ายกับดวงไฟโคม กาบดอกหุ้มสีเขียว กลีบชั้นนอกเป็นรูปกระบอก ปลายแฉกด้านหลังมีสีเขียวแก่ ด้านในมีสีม่วงอ่อนประกอบด้วยจุดแดง ๆ กลีบชั้นในลักษณะคล้ายกับตัวแฉกของกลีบชั้นนอก สีม่วงอ่อนหรือชมพูอ่อนมีประสีแดงแซม กลีบย่อยกลางมีเป็นชั้น ๆ สองชั้นแต่ละกลีบค่อนข้างกลม สีม่วงแก่ พาดด้วยปลายสีขาวสลับแดง มีเกสรอยู่ตรงกลางสีเขียวนวล ดอกมีกลิ่นหอมแรงจัดมาก ผล เป็นรูปไข่หรือไข่ยาว มีหลายพันธุ์ บางพันธุ์ ผิวผลสีม่วง สีเหลือง สีส้มอมน้ำตาล เปลือกผล เรียบ เนื้อรับประทานได้ มีเมล็ดจำนวนมาก อยู่ตรงกลาง
สรรพคุณ : ลดไขมันในเส้นเลือด
วิธีและปริมาณที่ใช้ : ใช้ผลที่แก่จัด ไม่จำกัดจำนวน ล้างสะอาด ผ่าครึ่ง คั้นเอาแต่น้ำ เติมเกลือและน้ำตาลเล็กน้อย ให้รสกลมกล่อมตามชอบ ใช้ดื่มเป็นน้ำผลไม้ ลดไขมันในเส้นเลือด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น