>>สมุนไพร กะเม็ง กานพลู กิ่งหม่อน เกสรบัวหลวง

สมุนไพร กะเม็ง กานพลู กิ่งหม่อน เกสรบัวหลวง
กะเม็ง

กะเม็ง หรือ ฮั่นเหลียนเฉ่า
กะเม็ง หรือ ฮั่นเหลียนเฉ่า คือ ส่วนเหนือดินแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eclipta prostrate L. วงศ์ Compositae
 ชื่อไทย : กะเม็ง, กะเม็งตัวเมีย, คัดเม็ง (ภาคกลาง); หญ้าสับ, ฮ่อมเกี่ยว
            (ภาคเหนือ)
ชื่อจีน ฮั่นเหลียนเฉ่า (จีนกลาง), อั่วโหน่ยเช่า (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่ออังกฤษ : Yerbadetajo Herb
ชื่อเครื่องยา : Herba Ecliptae
การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
            เก็บเกี่ยวส่วนเหนือดินในระยะออกดอก ตากแดดหรือตากในที่ร่มให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี
การเตรียมตัวยาพร้อมใช้
            หลังเก็บเกี่ยวสมุนไพรแล้ว แยกสิ่งอื่นที่ปะปนออก ล้างน้ำอย่างรวดเร็วให้สะอาด ผึ่งไว้ให้แห้งหมาด ๆ นำมาหั่นเป็นท่อน ๆ ตากให้แห้ง
คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก
            ตัวยาที่มีคุณภาพดี ต้องมีลำต้นกลมสีเขียวเข้ม มีลานเส้นตามแนวยาว เมื่อนำลำต้นและใบมาแช่น้ำจะมีสีเขียวผสมสีหมึก

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน
            กะเม็ง รสเปรี้ยวอมหวาน เย็น มีฤทธิ์บำรุงตับและไต ใช้แก้อาการมึนศีรษะ ตาลาย ผมหงอกเร็ว ปวดเมื่อยบริเวณเอวและหัวเข่า หูอื้อ ฝันเปียกจากภาวะยินของตับและไตพร่อง และมีฤทธิ์ห้ามเลือด ทำให้เลือดเย็น ใช้แก้อาการเลือดออกเพราะภาวะยินพร่อง ทำให้เลือดร้อน เช่น เลือดกำเดาไหล ไอเป็นเลือด ปัสสาวะ ถ่ายเป็นเลือด ตกเลือดในสตรี
สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย
            ต้นกะเม็ง รสขมเฝื่อนเย็น สรรพคุณ แก้ลมให้กระจาย แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ ห้ามเลือด บำรุงเลือด แก้โรคโลหิตจาง แก้ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด แก้ไอกรน แก้ริดสีดวงทวาร แก้เจ็บตา แก้เจ็บคอ ใช้ทาพอก แก้ผื่นคัน แก้ฝีพุพอง รักษาแผลตกเลือด
ขนาดที่ใช้และวิธีใช้
            การแพทย์แผนจีน ใช้ 6 – 12 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม
ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง และอาการข้างเคียง
            การแพทย์แผนจีน ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ม้ามพร่อง ไตยินพร่อง และพวกปัสสาวะบ่อย ๆ ไม่หยุด หรือ ถ่ายเป็นน้ำมาก ๆ
กานพลู

กานพลู หรือ ติงเชียง
กานพลู หรือ ติงเชียง คือ ดอกตูมแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Syzygium aromaticum (L.) Merr. Et Perry. วงศ์ Myrtaccae
ชื่อไทย : กานพลู (ภาคกลาง)
ชื่อจีน : ติงเชียง (จีนกลาง), เต็งเฮีย (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่ออังกฤษ : Clove
ชื่อเครื่องยา : Flos Caryophylli
การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว                     เก็บเกี่ยวดอกตูมเมื่อก้านดอกเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงอิฐ ตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่อากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี
การเตรียมตัวยาพร้อมใช้                                                นำวัตถุดิบสมุนไพรมาคัดแยกเอาสิ่งปนปลอมออก ร่อนเอาเศษๆออก ทุบให้แตกก่อนใช้
คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภาพนอก                            ตัวยาที่มีคุณภาพดีต้องเป็นดอกขนาดใหญ่ แห้งสนิท สีแดงอมม่วง มีน้ำมันมากและมิได้สกัดเอาน้ำมันออก(กานพลูที่ผ่านการสกัดเอาน้ำมันออกแล้ว จะมีสรรพคุณทางยาต่ำ)กลิ่นฉุน รสเผ็ดจัด
ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง และอาการข้างเคียง                       ห้ามใช้ในผู้เป็นไข้ อาเจียน ร้อนใน และห้ามใช้กานพลูร่วมกับว่านนางคำ เนื่องจากกานพลูจะถูกข่มด้วยว่านนางคำ (การแพทย์แผนจีน)

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน                               กานพลู รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหาร กระจายความเย็น ระงับปวดสรรพคุณแก้อาเจียน แก้สะอึกเนื่องจากความเย็น แก้ปวดท้องน้อยเนื่องจากระบบกระเพาะอาหารเย็นนอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่ระบบไต เสริมหยาง แก้อวัยวะไม่แข็งตัว มดลูกเย็น เป็นต้น
สรรพคุณตามตำราการแผนไทย                                     ดอกกานพลูแห้งที่ยังไม่ได้สกัดเอาน้ำมันออก รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอมจัด สรรพคุณแก้ท้องเสีย ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้ดับกลิ่นปาก น้ำมันกานพลูใช้เป็นยาขับลม ยาฆ่าเชื้อโรค ใส่ฟันฆ่าเชื้อและเป็นยาชาเฉพาะที่ ช่วยระงับอาการปวดฟัน ใช้แก้โรครำมะนาด ใช้ระงับกลิ่นปาก
ขนาดและวิธีใช้                                                              การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 1 – 3 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม     การแพทย์แผนไทย ใช้ดอกแห้ง 5 – 8 ดอก (1.12 – 0.16 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มหรือบดเป็นผง ชงน้ำดื่ม หรือเคี้ยวกานพลูแห้ง 1 – 2 ดอก หลังอาหาร เพื่อช่วยลดกลิ่นปาก ช่วยให้ปากสะอาด และช่วยลดอาการท้องอืดจากอาหารไม่ย่อย นอกจากนี้ ดอกกานพลูยังช่วยป้องกันไม่ให้เด็กอ่อนท้องอืดท้องเฟ้อได้ โดยใช้ดอกแห้ง 1 ดอก แช่ไว้ในกระติกน้ำร้อนที่ใช้ชงนมให้เด็กอ่อน การใช้น้ำมันกานพลูเป็นยาแก้ปวดฟัน ทำโดยใช้สำลีชุบน้ำมันกานพลูอุดตรงฟันที่ปวด หรือใช้ดอกแห้งตำพอแหลก ผสมเหล้าขาวเล็กน้อย ใช้สำลีชุบอุดรูฟัน
กิ่งหม่อน

กิ่งหม่อน หรือ ซังจือ 
กิ่งหม่อน หรือ ซังจือ คือกิ่งอ่อนที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus alba L.  วงศ์  Moraccae
ชื่อไทย : กิ่งหม่อน (ทั่วไป)
ชื่อจีน : ซังขือ (จีนกลาง), ซึงกี (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่ออังกฤษ : Mulberry Twig
ชื่อเครื่องยา : Ramulus Mori
การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว                              เก็บเกี่ยวกิ่งอ่อนได้ตลอดปี แต่ระยะที่เหมาะสมควรเก็บตอนต้นฤดูร้อน ลิดใบออก ตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี
การเตรียมตัวยาพร้อมใช้                                                         
          การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 3 วิธี ดังนี้             
    วิธีที่ 1 กิ่งหม่อน  เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ปราศจากสิ่งปนปลอมมาล้างน้ำให้สะอาด ใส่ภาชนะหมักไว้สักครู่เพื่อให้อ่อนนุ่ม หั่นเป็นแว่นหนา ๆ นำไปตากแดดให้แห้ง                                                                           
          วิธีที่ 2 กิ่งหม่อนผัด เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่กระทะ นำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งตัวยามีสีเหลือง นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม
        วิธีที่ 3 กิ่งหม่อนผัดเหล้า  เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่ภาชนะที่เหมาะสม เติมเหล้าเหลืองปริมาณพอเหมาะ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน จนกระทั่งเหล้าแทรกซึมเข้าเนื้อของตัวยา จากนั้น นำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งตัวยามีสีเหลือง นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม (ใช้เหล้าเหลือง 12 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม)

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก                            ตัวยาที่มีคุณภาพดีต้องเป็นกิ่งอ่อน ด้านหน้าตัดสีขาวอมเหลือง แข็งและเหนียว
สรรคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน                                 กิ่งหม่อน รสขม สุขุม มีฤทธิ์ขับลม ทำให้เส้นลมปราณคล่องตัว ใช้รักษาอาการปวดข้อ เส้นเอ็น หรือกล้ามเนื้อ และมีฤทธิ์คลายอาการขัดของข้อต่อ ใช้แก้อาการมือเท้าเป็นตะคริว                                                                      กิ่งหม่อนผัด  มีฤทธิ์ช่วยให้เส้นลมปราณแขขาไหลเวียนดี ส่วนใหญ่ใช้รักษาอาการปวดเมื่อยและชาตามหัวไหล่และแขน                                                    
          กิ่งหม่อนผัดเหล้า  มีฤทธิ์แรงในการขับลมและระบายความชื้น ช่วยให้เส้นลมปราณไหลเวียนและระงับปวดได้ดี ใช้รักษาอาการปวดข้อต่อ แขนขาหดเกร็งหรือชักกระตุก
ขนาดที่ใช้และวิธีใช้                                                        การแพทย์แผนจีน ใช้ 9 – 15 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม




เกสรบัวหลวง

เกสรบัวหลวง หรือ เหลียนซู
เกสรบัวหลวง หรือ เหลียนซู คือ เกสรตัวผู้ที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo nucifera Gaertn. วงศ์ Nymphaeaceae
ชื่อไทย : เกสรบัวหลวง, เกสรบัว (ทั่วไป); เกสรสัตตบงกช, เกสรสัตตบุษย์ (ภาคกลาง)                        
ชื่อจีน : เหลียนชู (จีนกลาง), โหน่วยชิว (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่ออังกฤษ : Lotus Stamen
ชื่อเครื่องยา : Stamen Nelumbinis
การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว                     เก็บดอกบัวที่บานเต็มที่ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสในฤดูร้อน แยกเอาเฉพาะเกสรตัวผู้ คลุมด้วยกระดาษ ตากแดดหรือผึ่งให้แห้งที่ร่ม เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี
การเตรียมตัวยาพร้อมใช้                                                นำวัตถุดิบสมุนไพรมาคัดแยกเอาสิ่งปนปลอมออก ร่อนเอาฝุ่นและเศษเล็ก ๆ ออก
คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก                            เกสรบัวหลวง มีสรรพคุณแก้อาการฝันเปียก เลือดกำเดาไหล ประจำเดือนมามากกว่าปกติ แก้ระดูขาว และแก้อาการท้องเสีย

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย                             เกสรบัวหลวง มีกลิ่นหอม รสฝาด สรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น บำรุงปอด บำรุงตับ บำรุงกำลัง คุมธาตุ แก้ลม บำรุงครรภ์ และแก้ไข้
ขนาดที่ใช้และวิธีใช้                                                        การแพทย์แผนจีน ใช้ 3 – 5 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มหรือบดเป็นผงรับประทาน   
           การแพทย์แผนไทย ใช้เกสรบัวหลวงสดหรือแห้งประมาณ 1 หยิบชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (ประมาณ 240 มิลลิลิตร) แช่ทิ้งไว้ 10 – 15 นาที ดื่มขณะที่ยังอุ่นอยู่ วันละ 3 – 4 ครั้ง ๆ ละ 1 แก้ว หรือ ใช้เกสรบัวหลวงแห้ง บดเป็นผง รับประทานครั้งละ 0.5 – 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนดื่มแก้ลม
ข้อควรระวัง : ถ้าได้เกสรบัวที่ขึ้นตามธรรมชาติยิ่งดี หากเอาเกสรบัวจากที่ขายในท้องตลาด เช่น ที่ขายเพื่อถวายพระ ต้องล้างให้สะอาดหลาย ๆ ครั้ง เนื่องจากเป็นบัวที่ผู้ปลูกฉีดยาฆ่าแมลง ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้
คนทีสอ

คนทีสอ หรือม่านจิงจื่อ
คนทีสอ หรือ ม่านจิงจื่อ คือ ผลสุกที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vitex trifolia L. var. simplicifolia Cham. หรือ V. grifolia L. วงศ์ Verbanaceae         
ชื่อไทย : คนทีสอ, ดินสอ (ภาคกลาง); คนทีสอขาว (ชลบุรี); คุนตีสอ (สตูล); โคนดินสอ (จันทบุรี, ภาคกลาง); ดอกสมุทร, สีเสื้อน้อย (เชียงใหม่); ทิสอ, เทียนขาว (พิษณุโลก); ผีเสื้อ (เลย), ผีเสื้อน้อย (ภาคเหนือ); มูดเพิ่ง (ตาก); สีสอ (ประจวบคีรีขันธ์)
ชื่อจีน : ม่านจิงจื่อ (จีนกลาง), หมั่งเก็งจี้ (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่ออังกฤษ : Shrub Chastetree Fruit
ชื่อเครื่องยา : Fructus Viticis
การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว                     เก็บผลสุกในฤดูใบไม้ร่วง แยกสิ่งที่ปะปนทิ้ง ตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี
การเตรียมตัวยาพร้อมใช้                                                การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 2 วิธี ดังนี้             วิธีที่ 1 คนทีสอ  เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ปราศจากสิ่งปนปลอมมาร่อนเอาเศษเล็ก ๆ ออก แล้วทุบให้แตกก่อนใช้                                                                        วิธีที่ 2 คนทีสอผัด  เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่กระทะ นำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งผิวด้านนอกสีเข้มขึ้น นำออกจากเตา ร่อนเอาก้านผลและเยื่อบาง ๆ สีขาวออก ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ทุบให้แตกก่อนใช้

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก                            ตัวยาที่มีคุณภาพดี ผลต้องมีขนาดใหญ่ มีเนื้อมาก กลิ่นหอม และปราศจากสิ่งปนปลอม
สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน                               คนทีสอ  รสเผ็ด ขม เย็นเล็กน้อย มีฤทธิ์ผ่อนคลาย กระจายความร้อน ใช้แก้หวัดจากการกระทบลมร้อน ปวดศีรษะ อาการผิดปกติต่าง ๆ จากศีรษะ และมีฤทธิ์ระบายความร้อนของศีรษะและตา ใช้แก้อาการตาแดง บวม ปวดตา ตาลาย น้ำตามาก                                                               คนทีสอผัด  จะทำให้รสเผ็ดของยาลดลง มีฤทธิ์ระบายความร้อนในระดับชี่ ระงับปวด ใช้รักษาอาการตาและหูสูญเสียความสามารถ โรคไมเกรน
สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย                             คนทีสอ รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้พยาธิ แก้ฟกบวม แก้เสมหะ แก้ลม แก้ริดสีดวงคอ
ขนาดที่ใช้และวิธีใช้                                                        การแพทย์แผนจีน  ใช้ 5 – 9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น